วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พี่โปร การุณ อมรพัฒนา นักวิ่งมาราธอนท่าสวย ตอนที่ 3

ตอนที่ 1 นั้น หลายคนคงได้พาขาออกวิ่งไปแล้วด้วยเหตุผลเดียวกันกับจุดเริ่มต้นของพี่การุณ คือ เลิกงานรถติด ไม่อยากทิ้งเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ก็เอาเวลามาใช้ประโยชน์ในการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง
ตอนที่ 2 เพื่อที่ร่างกายจะสามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยท่วงท่าการวิ่งที่ถูกต้อง หลายคน อาจปรับเปลี่ยนท่าวิ่งให้แลดูแข็งแรงและสวยงามกันไปแล้ว กับ 3 เทคนิคง่ายๆ ที่พี่โปรการุณ ได้กรุณาแบ่งปันไว้
ตอนที่ 3 นี้ อุ่นเอาเรื่องเล่า ของการฝึกซ้อม และการลงแข่งของพี่โปรการุณมาฝากกัน เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนอย่างแน่นอน

มา ... เรามาต่อกันเลย


หลายๆ คนถามว่า ทำไมต้องไปแข่ง
ธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อทำอะไรเดิมๆ ซ้ำๆ มันจะเกิดความเคยชิน (และไม่เกิดการพัฒนา หรือเติบโต ดังนั้นหากเราต้องการพัฒนาหรือเติบโต เราต้องหาความท้าทายให้ชีวิต) ...  ลองนึกภาพว่าเราวิ่งวันละ 2 รอบ เราก็จะชิน แล้วก็จะหาเหตุผลเพื่อวิ่งแค่ 2 รอบ ร่างกายก็ไม่เกิดการพัฒนา

ที่นี้ที่แข่งก็เพื่อที่จะกระตุ้นร่างกายอยู่เสมอให้เกิดภาวะการแข่งขัน เพื่อจะได้พัฒนาขึ้น อย่างพี่เนี่ยไม่เคยคิดที่จะแข่งกับใครนะ แต่พี่จะแข่งกับตัวเอง ท้าทายกับสถิติเดิมของตัวเอง ความหมายคือ ในสนามล่าสุดที่ระยะทางเท่ากัน เราสามารถทำเวลาได้ดีขึ้นกว่าเดิมมั๊ย และดีขึ้นเท่าไหร่ เรียกว่า ใช้สนามแข่งเป็นการวัดผลความแข็งแรงของร่างกาย และวัดผลการฝึกซ้อมของเราว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่

พี่การุณ ตั้งเป้าว่าต้องชนะ หรือต้องเข้า 1 ใน 5 ให้ได้สำหรับทุกการแข่งขันมั๊ยคะ
วิ่งมา 20 กว่าปี มาราธอน (42.195 กม.) เกือบ 40 ครั้ง และมินิมาราธอน  มินิฮาล์ฟมาราธอนอีกหลายครั้ง ไม่เคยคิดเลยว่าจะสามารถที่จะวิ่งได้ถ้วยกับเขา...เราคิดแค่แข่งกับตัวเอง


จากวัตถุประสงค์การวิ่งของเรา คือ อยากใช้เวลาในช่วงเย็นให้เป็นประโยชน์โดยการออกกำลังกายบ้าง พอได้ทำแล้วรู้สึกสนุก รู้สึกติด แล้วก็เฮ้ย ! มินิฮาล์ฟ มาราธอน (10.5 กม.) วิ่งได้แล้ว ก็ขยับเป้าหมายไปวิ่งฮาล์ฟ มาราธอน (21 กม.)  เฮ้ย ! เราทำได้อ่ะ ระยะมาราธอน (42.195 กม.) ทำได้อ่ะ ทั้งที่ตอนนั้น คิดว่า 42 โล ใครจะทำได้ฟะ ! 555ตอนนี้วิ่ง 100 โลแล้ว ตรงจุดนี้เราก็สัมผัสตัวเองได้ว่า การที่เราไม่ได้ตั้งเป้าใหญ่จนเกินไป แต่ฝึกซ้อมต่อเนื่อง เราไม่กดดันตัวเอง แล้วก็มีความสุขกับมันจริงๆ มันก็มาไกลได้นะ จนเมื่อสองปีที่แล้ว อดีตประธานชมรมวิ่งสวนหลวง ร.9  ถามว่า คุณไม่สนใจไปวิ่งบอสตันมาราธอนบ้างเหรอ (สนามมาราธอนระดับโลก) การไปไปหรือไม่ไป ยังไม่รู้ แต่ก็เซ็ททาร์เก็ท หรับวิธีการฝึกซ้อมให้เข้มข้นขึ้น (การวิ่งที่บอสตัน ไม่ใช่เพียงแค่มีเงินแล้ววิ่งได้นะ  การจะร่วมวิ่งที่สนามบอสตันต้องผ่านเกณฑ์ที่สนามกำหนดถึงจะสมัครวิ่งได้)

เป้าหมายและการซ้อมที่ไม่กดดันตัวเองและเพื่อแข่งกับตัวเอง เช่น เป้ายหมาย คือ วิ่ง 42.195 กิโล (ระยะมาราธอน) ปกติเราใช้เวลาประมาณ 4 ชม. เราอยากทำเวลาได้เร็วกว่านี้ ก็ฝันถึงมัน แต่ก็ไม่ได้ไปซีเรียสกับมัน เราก็ซ้อมวิ่งไปเรื่อยๆ เมื่อร่างกายเราแข็งแกร่งขึ้น ก็ เฮ้ย ! 3 ชั่วโมง 45 ทำได้อ่ะ ซึ่งไม่เคยอยากเชื่อ  แบบนี้แหละที่เรียกว่าไม่กดดัน และสนุก  และพี่ให้ความสำคัญกับการพักยาวก่อนแข่งด้วยนะ อย่างที่บอกว่าลงแข่งระยะมาราธอนมาเกือบ 40 ครั้ง ไม่เคยทำเวลาได้ต่ำกว่า 3 ชม. ครึ่ง แต่มีครั้ง ที่พักยาว 1 อาทิตย์ ผลการแข่ง ปรากฎว่า ได้ดีเกินคาด คือ 3 ชม. 27 นาที ก็ใช้ได้นะพอใจทีเดียว เป็นสนามแรก (สนาม ปตท.ระยอง) ที่ทำได้ต่ำกว่า 3 ชม. ครึ่งได้ มันอาจจะเพราะร่างกายเราแข็งแกร่งขึ้น แต่ส่วนหนึ่งที่เราสัมผัสได้คือ ผลจากที่เราพัก 1 อาทิตย์ก่อนลงแข่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยพักยาว (เคล็ดที่ไม่ลับ)


การพักก่อนแข่งมีความสำคัญยังไงคะ
ต้องบอกอย่างนี้ การซ้อมเยอะไม่ผิดนะแต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าซ้อมเยอะตอนไหน ไม่ใช่ไปเยอะตอนช่วงใกล้แข่ง
ในระหว่างการซ้อมร่างกายสึกหรอ และมีกล้ามเนื้อบางส่วนฉีกขาดไปแต่เราไม่รู้  ร่างกายล้าสะสม และฟื้นตัวไม่ทัน สำหรับการวิ่งในระยะมินิมาราธอน อาจซ้อมต่อเนื่องได้จนถึงก่อนลงแข่ง ระยะเวลาพักไม่ต้องมาก แต่สำหรับการวิ่งในระยะมาราธอน ร่างกายต้องการการฟื้นตัว ก่อนที่จะใช้กำลังเยอะอีกครั้งในวันแข่ง

ต้องเข้าใจต้นทุนตัวเอง
การซ้อมก่อนลงระยะมาราธอน บางคนใช้เวลาซ้อม 3 เดือน บางคน 6 เดือน หรือบางคนอาจต้องเป็นปี แต่ล่ะคนไม่เหมือนกันนะ เราต้องเข้าใจต้นทุนตัวเอง  เหมือนการอัดถนนนะ ต้องทำให้มันแน่น การวิ่งต้องผ่านระยะ 30 กิโล 35 36 37 บ้าง เพื่อให้ร่างกายมีความทนอย่างต่อเนื่อง ต้องจับความรู้สึกด้วยนะ เมื่อผ่าน 30 กิโลแล้ว ยังเหลืออีก 12 กิโล ร่างกายและความคิดเราจะอยู่ตรงไหน ความหมาย คือ ร่างกายจะต้องแข็งแรงเพียงพอที่จะผ่านการซ้อมระยะ 30 กิโลไปอย่างสดชื่น และมีสภาพร่างกายที่คิดว่าพร้อมถ้าต้องวิ่งต่อในระยะทางอีก 12 กิโลได้ และการซ้อมที่เพียงพอหรือไม่ ก็จะเป็นปัจจัยที่บ่งบอกว่าเราจะเข้าเส้นชัยในสภาพดี หรือสะบักสะบอม (เป็นจุดที่ต้องให้ความสำคัญด้วย)

ให้ความสำคัญกับการซ้อมสม่ำเสมอ
ไม่ว่าจะมีแข่งหรือไม่อีกเมื่อไหร่ พี่ก็จะซ้อมเป็นปกติ เหมือนกับจะมีการแข่ง จะไม่รอว่าจะมีการแข่งแล้วค่อยซ้อม เพราะเราต้องการให้ร่างกายพร้อมเสมอ และเราก็ไม่รู้ว่าจะมีภารกิจอะไรมาแทรก ซึ่งเมื่อถึงเวลาแข่งแล้วเราอาจไม่มีเวลาซ้อม เราทำให้เป็นเรื่องปกติ ทำเหมือนซามูไรนะ ต้องลับดาบอยู่สม่ำเสมอ ถึงแม้ไม่ออกรบ


ซ้อมสลับหนักเบา
ต้องมีซ้อมสลับวิ่งยาววิ่งสั้น แรงหนักแรงเบา เรียกว่ารู้จักบริหารวันหนักวันเบา ให้มันมีสมดุล ไม่ใช่อัด 30 โล กันทุกวัน พี่จะบอกนักวิ่งใหม่ๆ เสมอว่าไม่กลัวเรื่องอะไรหรอก กลัวอยู่เรื่องเดียว สังขาร เฮ้ย !  วิ่งมา 3 ปี 4 ปี แล้วก็ต้องปรับ ควรจะปรับลดลงสัก 5% (ตามอายุที่เพิ่มขึ้น) เพื่อให้ร่างกายมีการฟื้นตัว เพราะบางครั้งมันอยู่ในจุดที่เกิดพอดี และคนส่วนใหญ่ก็มองข้าม มันจะนำไปสู่การบาดเจ็บ ความเสื่อม สึกหรอง่าย พอบาดเจ็บปุ๊บการฟื้นตัวก็ใช้เวลานานกว่าคนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว เพราะสังขารมันมาเก็บเราแล้ว และพอเจ็บ เมื่อมาเห็นคนอื่นวิ่งเราก็อยากวิ่งกับเขานะ แต่วิ่งไม่ได้เพราะเจ็บอยู่ ลองคิดดูสิ มันไม่สนุก น่าเสียดายนะ

การซ้อมหนักอย่างเดียวไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลดีนะ เพราะร่างกายต้องการการฟื้นตัว อย่างตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬาบอกว่า ร่างกายจะได้ผลการฝึกซ้อม ต่อเมื่ออยู่ในสภาพที่พร้อม แต่ถ้าร่างกายไม่สบายก็อย่าซ้อมเลย อย่าฝืน พักดีกว่า เพราะถ้ายิ่งซ้อมร่างกายก็ยิ่งสึกหรอ

ให้ความสำคัญกับการซ้อมตามแผนและวิ่งแข่งตามแผน (ตามต้นทุนของตัวเอง) จะทำให้เราสนุกและมีความสุข
สำหรับพี่นะการแข่งขันมาราธอนไม่ได้กำหนดว่าเราจะต้องแข่งกับนักวิ่งแนวหน้า แต่การแข่งมาราธอนคือการแข่งขันกับตัวเอง เราทำสถิติได้ดีกว่าเดิมยังไง อารมณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่อยู่ในสนามเป็นยังไง สนุกมั๊ย เป็นตัวบ่งบอกความสำเร็จของเรา
เช่น จะเล่าครั้งที่เราทำสถิติได้ดี แต่ไม่สนุกให้ฟังว่า ครั้งที่ทำได้
3 ชม. 27 นาที ที่งานขอนแก่นมาราธอน ปี 2557 เราไม่วิ่งตามแผนเพราะเราวิ่งเร็วไปใน 30 กม. แรก แล้วแรงหมด  ถามว่าทำไมวิ่งเร็ว ... ก็วิ่งกับทีมชาติผู้หญิง โหมั่นใจมาก ปรากฎ 12 กม. สุดท้าย จนถึงเส้นชัยสภาพสะบักสะบอม จากที่ตั้งใจจะเข้าแบบพระเอก จริงๆ แล้ว ควรจะเอาความเร็วในระยะต้นไปเกลี่ยใช้ในช่วงหลัง เราจะเข้าเส้นชัยแบบพระเอกหล่อๆ จะสนุกกว่า แต่นี่เข้าแบบจะตายอ่ะ 555x (ตอนนี้ขำ แต่ตอนนั้นอาจไม่ขำ)

(สรุปว่า การจะวิ่งมาราธอนให้สนุก ต้องมีโจทย์ว่าตั้งใจจะวิ่งด้วยเวลาเท่าไหร่ รู้ต้นทุนตัวเอง วางแผน และฝึกซ้อมตามแผน ปรับแผนตามการพัฒนาของความแข็งแกร่งของร่างกาย และเมื่อลงสนามแข่งก็วิ่งตามแผน และต้นทุนของตัวเอง เพื่อแข่งกับตัวเอง ไม่ได้แข่งกับคนอื่น เฉกเช่นเดียวกับในทุกสนามชีวิตนะ อุ่นคิดแบบนี้)


และการแข่งขันทำให้เรามีพันธะสัญญาทีต่อตัวเอง 
เช่นในวันซ้อม หรือวันออกกำลังกายเฉยๆ เราจะลุกขึ้นไปวิ่งตอน 7 โมง แล้วเดินวันละครึ่งชั่วโมงก็ได้ แต่สำหรับการฝึกซ้อมแบบมีเป้าหมาย เราจะไปถึงสถานที่ซ้อมแต่เช้า เพื่อที่จะวิ่ง 3-4 ชั่วโมง ถามว่าทำไมเราทำแบบนี้ ก็เพราะเรามีสัญญากับเป้าหมาย และเราก็รักษาสัญญากับตัวเอง เกิดความวางใจในตัวเอง 
( เมื่อเราวางใจในตัวเองได้ เราก็จะได้รับความวางใจจากคนอื่นนะ อุ่นเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้)

มาถึงตรงนี้ พูดเลยว่า มาราธอน ไม่ใช่แค่ การเคลื่อนตัวไปข้างหน้า แต่คือความท้าทาย คือ รสชาติของชีวิตที่เอร็ดอร่อยน่าลิ้มลองสำหรับใครที่อยากจะเปลี่ยนแปลงชีวิต ตามคำพูดในหนังเรื่อง ถ้าแค่อยากวิ่ง ก็วิ่งกิโลเดียวก็พอ แต่ถ้าอยากเปลี่ยนชีวิต ต้องวิ่งมาราธอน (42.195 กม.) ที่พี่การุณทิ้งท้ายไว้ให้ในตอนนี้

ในตอนที่ 4 (ตอนสุดท้าย) อุ่นจะเอาเสน่ห์มาราธอน จากหัวใจนักวิ่งท่าสวย พี่โปร การุณ  อมรพัฒนา มาฝากกันให้อิ่มใจ อิ่มแข้งขากันเลยทีเดียว...แล้วพบกันนะคะ


อุ่นไอ  ไทยแลนด์
เรียบเรียง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น